Embossing & Debossing | การปั๊มนูนและจม

 

Embossing & Debossing (การปั๊มนูนและจม)

          หนึ่งในเทคนิคที่โรงพิมพ์มักเสนอให้เป็นทางเลือกแรกๆ ในการเพิ่มความพิเศษให้กับชิ้นงานก็คือการปั๊มจมและนูน เนื่องจากเป็นเทคนิคที่ไม่ซับซ้อนมาก แต่ได้รับความนิยมสูง ใช้เวลาเตรียมไม่นานแต่กลับได้ผลที่ดี เพิ่มผิวสัมผัสให้กระดาษที่เรียบและแบนมีมิติมากขึ้น ไม่ว่าจะนูนขึ้นหรือจมลงไปกลับทำให้ความรู้สึกที่พิเศษที่ต่างจากงานพิมพ์ผิวเรียบธรรมดา

 

Embossing การปั๊มนูน

 

 

          รู้จักกับ Emboss
เรียกวิธีนี้ได้ว่า “การปั๊มนูน” เป็นวิธีการที่โรงพิมพ์ขึ้นรูปพื้นผิวให้นูนขึ้นโดยการกดทับกระดาษ เพื่อเพิ่มความนูนให้กับกระดาษ เรียกอีกอย่างว่าการปั๊มนูน สามารถมองเห็นพื้นผิวที่นูนขึ้นแบบนูนต่ำและสามารถสัมผัสบริเวณที่นูนขึ้นได้

 

          คุณสมบัติ
การปั๊มนูนตรงกันข้ามกับการปั๊มจม ใช้แม่พิมพ์กด ดันให้กระดาษยกตัวสูงขึ้น เพื่อให้กระดาษมีมิติเป็นแบบนูนต่ำ ทำให้ตัวอักษร โลโก้ หรือบริเวณที่ต้องการเน้น เพิ่มความคมชัดและผิวสัมผัสให้กับพื้นผิว โดยด้านหนึ่งจะนูนขึ้นมา ส่วนอีกด้านจะเห็นเป็นรอยกดของกระดาษ

 

          การใช้งาน
สามารถใช้เทคนิคนี้กับโลโก้ของนามบัตร, ตัวหนังสือบนปก, หรือกระดาษหัวจดหมาย เทคนิคการปั๊มไม่จำเป็นต้องพิมพ์ร่วมกับสีก็ได้ จะเรียกว่า Blind emboss ซึ่งจะเป็นการเน้นโชว์พื้นผิวและแสงเงาของบริเวณที่ทำการปั๊มลงไป โดยจะมีข้อจำกัดคือใช้เวลานานขึ้นและมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น แต่ก็สามารถพิมพ์ปั๊มนูนพร้อมกับหมึกสีต่างๆ และเทคนิคอื่นๆ ได้หลากหลายวิธีมากมาย ทั้งการปั๊มจม (Deboss) ของพื้นหลัง, การปั๊มนูนร่วมกับหมึกสีต่างๆ, การเคลือบ Spot UV, การไดคัต หรือแม้แต่การทำ Flock ด้วยเส้นขนกำมะหยี่และอีกหลากหลายวิธี โดยเฉพาะการพิมพ์ฟอยล์เพื่อเพิ่มเส้นขอบบริเวณปั๊มให้ชัดยิ่งขึ้น

 

Debossing การปั๊มจม

 

 

          รู้จักกับ Deboss

หนึ่งในเทคนิคการเพิ่มผิวสัมผัสให้กับชิ้นงานที่เรียกว่า “การปั๊มจม” (Deboss) โดยพื้นผิวของวัสดุจะเป็นรอยลึกลงไปตามรูปร่างของแม่พิมพ์ที่กดทับ เป็นพื้นผิวนูนต่ำ ทำให้เห็นพื้นผิวมีร่องที่ลึกขึ้น สามารถนำไปใช้กับไอเดียออกแบบได้หลากหลาย

 

          คุณสมบัติ
เป็นวิธีการเพิ่มผิวสัมผัสที่ตรงกันข้ามกับ Emboss (การปั๊มนูน) ผิวของกระดาษที่มีการปั๊มจมจะลึกลงไปเป็นร่องคล้ายถูกเซาะออกไปเหมือนการแกะสลัก หรือประทับตราลงไป แต่จะได้ตัวอักษรหรือรูปภาพที่คมชัด เนื่องจากเป็นการปั๊มโดยใช้แม่พิมพ์ที่เป็นเครื่องจักร โดยอาศัยการออกแบบแม่พิมพ์เพียงครั้งเดียว

 

         การใช้งาน
การปั๊มจม เป็นการเน้นพื้นผิวบางส่วนของชิ้นงาน โดยเฉพาะบริเวณโลโก้หรือตัวอักษร สามารถใช้ได้กับงานหลายประเภท โดยเฉพาะกับกระดาษที่มีเนื้ออ่อนนุ่มอย่างกระดาษที่เป็นผ้าฝ้าย จึงจะเห็นรอยพิมพ์ชัดที่สุด ถ้าเป็นการพิมพ์แบบมืออาชีพ จะไม่เห็นรอยนูนทะลุไปด้านหลัง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับประเภทของกระดาษและสีที่ใช้ด้วย ซึ่งจะเปลี่ยนพื้นผิวของกระดาษไปเล็กน้อย บางครั้งการออกแบบปั๊มจมสามารถทำได้ทั้ง 2 ด้าน โดยใช้กระดาษที่หนาขึ้น หรือการพิมพ์ปั๊มจมบนกระดาษ 2 แผ่นแล้วนำมาเชื่อมกันด้วยกาว นิยมใช้กับนามบัตรและปกหนังสือต่างๆ และเทคนิคที่นิยมใช้มากที่สุดคือการพิมพ์สีบริเวณที่ถูกปั๊มจมลงไป จะเพิ่มความสวยและมิติให้กับงานได้ดี

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *