อยู่บ้านพับกระดาษกับแนวคิดของ Robert J. Lang วิศวกรผู้พับกระดาษที่เป็นได้มากกว่างานอดิเรก แต่ไปไกลถึง NASA
เมื่อต้องกักตัวอยู่บ้านอย่างเหงาๆ เรามักจะนึกไปถึงกิจกรรมอย่างการอ่านหนังสือ การออกกำลังกาย ฝึกฝนโยคะ การจัดบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย การหันมาลองปลูกต้นไม้ดูแลสวน หรือการประกอบอาหารตามคลิปตัวอย่าง กิจกรรมต่างๆ ไอเดียต่างๆ ผุดขึ้นมาอย่างมากมาย ในระหว่างที่เรากักตัวอยู่บ้าน สร้างจินตนาการที่ไร้ขอบเขต และออกมาทำประโยชน์เพื่อสังคมมากขึ้น แต่หากว่ายังไม่รู้จะทำอะไรดี การลองเริ่มต้นพับกระดาษก็เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ
การพับกระดาษแบบญี่ปุ่น หรือ โอริกามิ (Origami) เป็นกิจกรรมที่ใครหลายคนคุ้นเคยเมื่อครั้งยังเป็นวัยเด็ก เราหลายคนอาจเคยพับกระดาษร่วมกับพ่อแม่หรือคุณครูที่โรงเรียน หรือบางครั้งก็เป็นการพับเล่นในกลุ่มเพื่อนๆ ทำให้ทักษะการพับนก หรือพับดาว เป็นทักษะที่ติดตัวมาโดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งเมื่อเรามีทักษะมาบ้างแล้ว ก็พร้อมสำหรับการลงมือทำ โดยเริ่มจากสิ่งง่ายๆ ไปสู่สิ่งที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ
แต่นอกเหนือไปจากการพับกระดาษแบบงานอดิเรกทั่วๆ ไป ยังมีวิศวกรผู้เก่งกาจในด้านการคำนวณคนหนึ่ง นามว่า Robert J. Lang ตัดสินใจลาออกจากงานที่ทำอยู่เพื่อมาพับกระดาษเป็นงานหลัก! เพียงแต่ว่า กระดาษที่เขาพับนั้น ไม่ใช่เพียงกระดาษอย่างที่เราเคยเล่นกัน เพราะเขาสามารถพับกระดาษที่ซับซ้อนกว่ากระดาษทั่วไปร่วมกันกับหลักการทางคณิตศาสตร์ที่สร้างความเป็นไปได้อีกมากมายให้กับกิจกรรมการพับกระดาษธรรมดา ใช้ความรู้จากพื้นฐานของเรขาคณิต ทำให้งานของเขาต่อยอดขึ้นมาจากเดิมได้อย่างไร้ขีดจำกัด จนทำให้ชายคนนี้ได้ขึ้นไปยืนพูดในฐานะนักพับกระดาษบนเวที TED Talk มาแล้ว
ผลงานของเขา ไม่เพียงเป็นงานศิลปะ แต่ก้าวข้ามไปยังชิ้นงานที่มีประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์ในระดับที่มีบทบาทต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ งานของเขาสามารถนำไปพัฒนาการสร้างอุปกรณ์ขยายหลอดเลือดในทางการแพทย์ การคิดค้นวิธีการพับเก็บถุงแอร์แบ็กในยานยนต์ การผลิตกล้องดูแห่แบบเดียวกับที่ใช้ในเรือดำน้ำ หรือแม้แต่ช่วยพับเลนส์กล้องโทรทรรศน์เพื่อช่วยการทำงานขององค์การนาซ่า
เขาได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการพับกระดาษจะไม่เป็นเพียงการพับกระดาษทั่วไป แต่มันคือความซับซ้อนของรูปร่างรูปทรงเชิงเรขาคณิตที่เป็นศิลปะที่สวยงาม จากกระดาษแผ่นใหญ่ 1 แผ่น สามารถสร้างรอยพับได้เป็นอนันต์ งานของเขาผนวกเอาทั้งการคิดคำนวณและจินตนาการรวมไว้ด้วยกัน เขามองเห็นมิติการยืดหด-ขยาย มองภาพว่าจะเก็บวัสดุอุปกรณ์ชิ้นที่มีขนาดใหญ่ให้มีพื้นที่ที่เล็กลงพอสำหรับการขนย้ายได้อย่างไร
https://langorigami.com/ เป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมผลงานศิลปะการพับของ Lang ที่เพียงมองรูปจำนวนนับมหาศาลก็บอกได้ทันที แทนคำพูดนับพันว่าเขาเป็นศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ตัวจริง อะไรก็แล้วแต่ที่เรานึกฝันว่าจะได้เห็นในรูปทรงของโอริกามิ ไปจนถึงสิ่งที่เราไม่นึกไม่ฝันว่าจะได้เห็น Lang ก็สามารถประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาได้
Lang มองว่า ผลงานพับกระดาษตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมาของเขานับพันรูปทรงมีความคล้ายคลึงกับดนตรี ในแง่ของการประพันธ์ขึ้นมาแล้วนำมาบรรเลงต่อ ซึ่งคล้ายกับการพับ ขึ้นอยู่ที่ว่า ผู้บรรเลง(หรือนักพับกระดาษ) จะใส่บุคลิก ใส่ตัวตนลงไปในการตีความการพับกระดาษของแต่ละคน ทำให้งานแต่ละชิ้น ดูมีความหมาย และรูปแบบที่ไม่ซ้ำกัน แม้จะพับขึ้นมาด้วยหลักและวิธีการพับเดียวกัน
หากคิดถึงกิจกรรมน่ารักๆ ที่เคยทำสมัยยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ อยู่กับครอบครัว คิดถึงกิจกรรม old-school ที่หวนให้คิดถึงช่วงเวลาเก่าๆ ลองเลือกการพับกระดาษไว้เป็นตัวเลือกหนึ่ง อย่างน้อยๆ ก็ช่วยฝึกสมาธิ ฝึกจินตนาการ แล้วยังได้ของประดับตกแต่งจากกระดาษสีที่เราพับด้วยตัวเองอีกด้วย
ที่มา
http://www.ams.org/publicoutreach/math-imagery/lang
https://impakter.com/art-origami-interview-robert-j-lang/
อ่านบทความเรื่องชนิดของกระดาษได้ที่
https://papermore.co/2019/08/25/paper-types-%e0%b8%8a%e0%b8%99%e0%b8%b4%e0%b8%94%e0%b8%82%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%94%e0%b8%b2%e0%b8%a9/