ColorChecker Passport อุปกรณ์คู่ใจช่างภาพ ให้สีของภาพถ่ายใกล้เคียงกับที่ตาเห็น
ในชีวิตการทำงานของช่างภาพและผู้ที่เกี่ยวข้อง การปรับสีใน Photoshopหรือ lightroom เป็นสิ่งที่ทุกคนคุ้นชินอยู่แล้ว แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยง่ายเลย คือการปรับสีให้ตรงกับความเป็นจริง ภาพถ่ายที่ติดแดง ติดเหลือง การแก้ไขที่ปลายทางหน้าคอม เป็นการคาดเดาล้วนๆ นำไปสู่การแก้งานที่ไม่มีจบสิ้น ถ้าคนตัดสินใจ ยังคิดว่ามันยังดูไม่เหมือนจริง โดยเฉพาะสีโทนผิวคน skintone ปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างง่ายดาย คือ ColorChecker ซึ่งบริษัท X-Rite ได้พัฒนาต่อกลายเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ ColorChecker ซึ่งแต่ละตัวจะมีข้อดีต่างกันไป มีทั้งสำหรับถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว โดยในบทความนี้จะเน้นที่ ColorChecker Passport อุปกรณ์คู่ใจช่างภาพ ให้สีของภาพถ่ายใกล้เคียงกับที่ตาเห็น ซึ่งเป็นตัวที่นิยมใช้สำหรับงานภาพนิ่ง
หลักการทำงานของ Colorcheck คือ สร้างแถบสีจำนวนหนึ่งขึ้นมา เมื่อนำแถบสีไปถ่ายภาพในสถานที่ต่างๆ โดยถ่ายให้ติดตัวแถบสีด้วย เมื่อได้ภาพถ่ายที่ติดแถบสีมา นำมาเปรียบเทียบกับแถบสีตัวจริง เราก็จะรู้ว่าสีเพี้ยนไปแบบไหนบ้าง โดยปัจจุบันงานปรับและวิเคราะห์เป็นหน้าที่ของโปรแกรมคอมพิวเตอร์
แรกเริ่มเดิมที ColorChecker ที่เราอาจเรียกด้วยชื่ออื่นว่า Macbeth ColorChecker หรือ Macbeth Chart เป็นอุปกรณ์สำหรับปรับค่าสีให้แม่นยำ เที่ยงตรงที่สุด ซึ่งรูปลักษณ์ภายนอกจะประกอบไปด้วยช่องสีต่างๆ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดใหญ่ 24 สีที่จัดเรียงกันอยู่ในกรอบ อุปกรณ์ชิ้นนี้ถูกคิดค้นขึ้นในปี ค.ศ. 1976 โดย McCamy, Marcus, และ Davidson ซึ่งสีต่างๆ บนอุปกรณ์จะสะท้อนช่วงสีต่างๆ ที่จะเลียนแบบสีของวัตถุในธรรมชาติ เช่น สีผิวของมนุษย์ สีใบไม้ ดอกไม้ เพื่อให้สีมีความคงที่ของค่าสีภายใต้สภาวะที่มีแสงต่างๆ กัน โดยเฉพาะภาพที่มาจากฟิล์มถ่ายรูปและกล้องดิจิทัล
สีทั้ง 24 สีจะถูกจัดวางในลักษณะตาราง 4*6 (4 แถว 6 คอลัมน์) และมีขนาดแต่ละช่องประมาณ 2 ตารางนิ้ว ซึ่งจะเป็นสีที่ด้านพิมพ์บนกระดาษเนื้อละเอียด และกรอบด้านนอกมักจะต้องเป็นสีดำ ส่วนสีบนแต่ละช่อง จะมี 6 สีที่อยู่ในช่วงสีเทาที่มีความสว่างต่างกัน และ 6 สีหลัก แดง เขียว น้ำเงิน ฟ้า ชมพู และเหลือง ซึ่งเป็นสีที่จำเป็นในกระบวนการการถ่ายภาพและทางเคมีของสี ส่วนสีอื่นๆ จะเป็นสีที่มีความสว่างและมืดกลางๆ ของสีผิวของคน สีท้องฟ้า สีใบไม้ และสีฟ้าดอก Chicory สีที่จะมาปรากฏบน ColorChecker จะต้องมีการวัดอย่างแม่นยำโดยระบบ Colorimetric ที่ใช้สีที่เป็นมาตรฐานสี CIELAB คือ CIE 1931 2° standard observer และ Illuminant C
จากเหตุผลที่อุปกรณ์ชิ้นนี้มีค่าสีที่สอดคล้องกับสีผิวและสีของธรรมชาติ จุดประสงค์ของ ColorChecker คือการปรับค่าสีให้ใกล้เคียงกับสีธรรมชาติจริงๆ มากที่สุด โดยเมื่อถ่ายภาพ จะต้องมี ColorChecker ถ่ายติดอยู่ในรูปด้วยเช่นกัน เพื่อเทียบค่าสีและความสว่างในสภาวะต่างๆ กัน โดยที่มีค่าสีที่ถูกต้องแม่นยำเป็นตัวเปรียบเทียบ เช่น การถ่ายภาพจำนวนหลายๆ ภาพที่จำเป็นจะต้องรักษาโทนสีของภาพให้เหมือนๆ กัน ภาพต้องมีความสว่างเท่าๆ กัน และจะต้องไม่หม่นไปด้วยสีใดสีหนึ่งที่ทำให้ทิศทางของภาพถ่ายชุดนี้หลุดออกไปจากสิ่งที่ช่างภาพต้องการ เราจะอิงจากค่าสีของ ColorChecker ระหว่างภาพหนึ่งกับอีกภาพหนึ่ง เพราะอุปกรณ์ชนิดนี้จะมีสีที่เป็นมาตรฐานที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุดภายใต้ทุกสภาพแสงต่างๆ โดยจะให้สีที่เป็นสีพื้นเรียบๆ ที่ครอบคลุมสีจากภาพถ่ายได้ครบมากที่สุด ซึ่ง chart ตัวนี้ใน passport จะเรียกว่า CLASSIC TARGET ซึ่งเป็นตัวหลักในการใช้งาน chart นี้สามารถนำไปใช้สร้าง ICC Profile หรือใช้งานผ่านการสร้างไฟล์ DNG ซึ่งเป็นการสร้างจุดอ้างอิงทำให้เราสามารถปรับสีให้ถูกต้องได้อย่างรวดเร็ว และในชุดยังมี GRAY BALANCE TARGET และWHITE BALANCE TARGET ส่วน CREATIVE ENHANCEMENT TARGET เป็นแถบสีเทาไล่เฉด สามารถใช้ในการปรับสีใน คลิกเดียวโดยเปลี่ยนจุดอ้างอิงสีเทา (set gray point)
วิธีการใช้ ColorChecker
จะต้องหันด้านสีของอุปกรณ์ออก เห็นสีได้อย่างชัดเจนทุกช่อง โดยที่ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดไปบดบังส่วนของอุปกรณ์ และจะต้องมีโฟกัสภาพที่คมชัด บริเวณ ColorChecker ต้องไม่เบลอ เมื่อได้ภาพที่ตรงตามเงื่อนไขและนำไปใช้ในโปรแกรม LightRoom แล้ว ให้คลิกขวาที่ภาพ แล้วเลือก export > colorchecker passport และจะมีหน้าต่างให้ตั้งชื่อ DNG Profile Name เพื่อให้เข้าใจง่าย ให้ตั้งชื่อด้วยชื่อกล้อง รุ่น เลนส์ และส่วนประกอบที่สำคัญ เช่น อุปกรณ์จัดแสง จากนั้นให้ไปที่ส่วนของ Camera Calibration และเลือก Color profile ที่เราได้ตั้งชื่อไว้ แล้วให้เลือก Sync… เพื่อเลือกรุ่นกล้อง เลนส์ และอุปกรณ์จัดแสงที่ตรงกับอุปกรณ์ที่เราใช้ ก็จะช่วยให้การปรับค่าสีและตั้งมาตรฐานสีของภาพเป็นเรื่องง่ายขึ้น
(ที่มาของคลิป https://www.youtube.com/watch?v=0quI-UYKB-Q&feature=emb_title)
โดยสรุป ColorChecker passport เป็นเครื่องมือที่ควรมี สำหรับการถ่ายภาพที่ต้องการสีที่ถูกต้อง สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานต่างๆได้ เช่น การทำ Art reproduction หรือการถ่ายภาพเพื่อใช้อ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ จะมีข้อสังเกตเล็กๆ ก็เป็นเรื่อง การใช้งานที่ค่อนข้างผูกกับ Adobe และอายุการใช้งานที่แนะนำคือ 1 ปี เพื่อความถูกต้องของค่าสี
อ่านบทความการพิมพ์เพิ่มเติมที่ https://papermore.co/academic-journal/