อ.ประยูร จรรยาวงษ์

กำเนิดการ์ตูน “ประวัติ ประยูร จรรยาวงษ์ : นักเขียนการ์ตูนไทยที่สร้างสรรค์ผลงานยาวนานกว่า 50 ปี ”

.

.
ประยูร จรรยาวงษ์ เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2458 ที่ตำบลบางลำภู เขตพระนคร บิดามารดามีอาชีพค้าขาย ในวัยเด็กบิดามารดาส่งเด็กชายประยูร ไปเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก หลังจากนั้นเมื่ออายุเพียง 10 ปี บิดาของเขาเสียชีวิตลงกระทันหัน กิจการค้าจึงจำเป็นต้องปิดตัวลงด้วยขาดเสาหลักของครอบครัว มารดาจึงพาเขาย้ายไปอาศัยอยู่กับยายที่บ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาหลังวัดส้มเกลี้ยง(วัดราชผาติการาม)และย้ายมาเรียนที่โรงเรียนวัดใกล้บ้าน เขาจึงต้องช่วยทำงานจิปาถะที่บ้านยายในเวลาเช้าก่อนไปเรียนและหลังเลิกเรียน ต่อมาได้สมัครเข้าเรียนชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนซึ่งเขาต้องพยายามไปโรงเรียนโดดยไม่ขาดเลยสักวัน เพื่อที่จะได้สิทธิ์เป็น “นักเรียนหมั่น” ที่ได้รับยกเว้นค่าเล่าเรียน ต่อมาเขาได้ไปเรียนต่อชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร ในช่วงนี้เองที่เขาหันมาสนใจฝึกฝนการเขียนภาพการ์ตูนอย่างจริงจัง แม้แต่ยอมอดข้าวกลางวันเพื่อเก็บเงินที่ยายให้มาไปซื้อหนังสือพิมพ์เก่าที่มีภาพการ์ตูนต่างๆของการ์ตูนต่างๆของฝรั่งมาศึกษาและหัดวาดด้วยตนเอง

กำเนิดการ์ตูน “เส้นทางการเป็นนักเขียนการ์ตูน”

.
ประยูรเริ่มวาดการ์ตูนจริงจังครั้งแรก ตอนเรียนอยู่มัธยม 7 เขาเริ่มรู้ตัวเองแล้วว่าชอบวาดเขียน บาง วันยอมอดข้าวกลางวันเพื่อเอาเงินไปซื้อกระดาษ ซื้อหนังสือภาพการ์ตูนฝรั่งที่ตลาดนางเลิ้งมาฝึก เขียนตาม เพื่อนๆ จำได้ว่าเขาสามารถวาดรูปการ์ตูนได้สองมือพร้อมกัน สมัยนั้นการ์ตูนขุนหมื่นของ สวัสดิ์ จุฑะรพ กำลังได้รับความนิยม ประยูรก็ลอกเลียนได้เหมือนมาก และด้วยเป็นคนมีอารมณ์ขัน อยู่แล้ว ครั้งหนึ่งเขาวาดรูปขุนหมื่นยืนกินกล้วยน้ำว้า เพื่อนๆ ดูแล้วหัวเราะกัน เพราะเหมือนอย่าง กับเจ้าของการ์ตูนมาเขียนเอง
ความที่หันมาสนใจการเขียนการ์ตูน 90 เปอร์เซ็นต์ เรียนหนังสือ 10 เปอร์เซ็นต์ ผลการเรียนของ ประยูรตกลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็สอบไม่ผ่าน ต้องเรียนซ้ำชั้นมัธยม 7 โดยขาดไปเพียง 2 คะแนน แม้ จะอ้อนวอนเท่าไร แต่ครูก็ไม่ยอม
แต่ผลของความเพียรก็ตอบแทน โดยผลงานภาพการ์ตูนล้อเลียนชื่อ ‘หลังบ้าน’ ได้ตีพิมพ์เป็นครั้ง แรกในหนังสือพิมพ์ดาวทอง ภาพนี้เขาเขียนถึงช่วงวันตรุษจีน ซึ่งพ่อค้าคนจีนจะนำหมูเป็ดไก่ไปให้ ข้าราชการที่แอบเปิดหลังบ้านมารับ พอผลงานได้พิมพ์ยิ่งทำให้เด็กหนุ่มมีกำลังใจ
“นิสัยของผมนั้นเมื่อตัดสินใจลงไปแล้วว่าจะทำก็ต้องทำ ฉะนั้นผมจึงก้าวไม่ถอย แรงใจที่เคยมีทาง เขียนการ์ตูนเพิ่มขึ้นอีกอย่างเอาเป็นเอาตาย เพราะเหตุนี้ผมจึงเรียน ม.7 2 ปี ม.8 2 ปี เพราะหันมา ทุ่มเททางการ์ตูน และทุกวันนี้ผมก็ยังเป็นนักเรียนการเขียนการ์ตูนอยู่”
พอเรียนจบประยูรสมัครเข้าทำงานที่การรถไฟ ก่อนจะมาทำงานเขียนหัวเรื่องที่หนังสือพิมพ์ ประชา มิตรรายวัน แต่ความฝันจะเป็นนักวาดการ์ตูนไม่เคยหายไป เขาเห็นว่าสมัยนั้นคนไทยชอบดูลิเก จึง เขียนการ์ตูนยาวเรื่องคือ จันทะโครบ ในรูปแบบการ์ตูนลิเกที่ไม่เหมือนใคร ไปเสนอหนังสือพิม สุภาพบุรุษ ปรากฏว่าจันทะโครบประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว มีคนอ่านติดตามเนืองแน่น
นับเป็นการแจ้งเกิด นายศุข (เล็ก) ตัวละครที่เขาสร้างขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจมาจากชื่อนักมวยชื่อ ดังสมัยนั้นคือ ศุข ปราสาทหินพิมาย หรือ ศุข (ใหญ่)
และตั้งแต่นั้นมา เขาก็การ์ตูนเรื่องยาวลงในหนังสือพิมพ์ต่างๆ อีกถึง 34 เรื่อง

กำเนิดการ์ตูน “ขบวนการแก้จน”

.

ในพ.ศ. ๒๕๑๕ ประยูร จรรยาวงษ์ เขียนภาพล้อการเมืองและสังคมให้กับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แต่มีเหตุการณ์ที่ทำให้เขาต้องหยุดเขียนการ์ตูนล้อการเมืองไปชั่วคราว ประยูรจึงนำประสบการณ์และความรู้ที่เขามีเกี่ยวกับการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ทำอาหาร และการใช้ชีวิตแบบไทยๆ มาเขียนแทน โดยตั้งชื่อคอลัมน์ใหม่นี้ว่า “ขบวนการแก้จน”

.
ความหมายของประยูร “ความจน” มิได้ตรงข้ามกับ “ความรวย” ซึ่งเป็นความหมายในทางเศรษฐกิจ แต่เขาหมายถึง “ความจน” ในทางอื่นด้วย เช่น “จนใจ” “จนปัญญา”
ประยูรเคยเขียนไว้ว่า…. “จนทรัพย์ ไม่อาภัพเท่า จนใจ”
จนทรัพย์ หมายถึงขาดแคลนทางวัตถุ แต่ “จนปัญญา” “จนใจ” “จนแต้ม” หมายถึงขาดแคลนความรู้ และกำลังใจที่จะต่อสู้กับชีวิต


.
“นายศุขเล็ก” ในการ์ตูน ขบวนการแก้จน จึงมาช่วยชี้แนะ กระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดกำลังใจ โดยมีความขยันหมั่นเพียร ฟันฝ่าอุปสรรค และให้ความรู้ด้านการทำอาหาร การเกษตร และเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นแนวทางไปทำอาชีพต่างๆ เมื่อการ์ตูน “ขบวนการแก้จน” ปรากฏออกสู่สายตาคนอ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คอลัมน์นี้ได้รับความนิยมจากผู้อ่านเป็นจำนวนมาก มีผู้สนใจเขียนจดหมายมาสอบถาม ขอความรู้ คำแนะนำต่างๆ เพื่อนำไปประกอบอาชีพหรือ ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันมากมาย “ขบวนการแก้จน” จึงเป็นหนึ่งในคอลัมน์ยอดฮิตในไทยรัฐอย่างยาวนาน
ในปี ๒๕๑๙-๒๕๒๑ ประยูร จรรยาวงษ์ ตัดสินใจรวบรวมการ์ตูนชุดนี้จัดพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือพ็อกเกตบุ๊ก จำนวน ๘ เล่ม ตามคำเรียกร้องของผู้อ่าน และได้รับความนิยมมากจึงมีการพิมพ์ซ้ำหลายครั้งด้วยกัน

.
ที่ได้รับการยกย่อง
ในปี ๒๕๔๐ ศูนย์วิจัยสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประกาศว่า หนังสือ “ขบวนการแก้จน” ชุดที่ประยูร จรรยาวงษ์ เป็นผู้รวบรวมจัดพิมพ์ ได้รับคัดเลือกให้เป็น ๑ ในหนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน
ต่อมาในปี ๒๕๖๒ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศยกย่องว่า หนังสือ “ขบวนการแก้จน” โดยประยูร จรรยาวงษ์ เป็นหนึ่งในสารคดีวรรณกรรมยอดเยี่ยมในสมัยรัชกาลที่ ๙ ตามแนวคิดศาสตร์พระราชา

ที่มา
https://th.postupnews.com/2022/10/Sooklek-Cartoon-thai-media-fund.html
https://www.thairath.co.th/news/politic/538131

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *