เกมกระดานที่ทำให้เราใช้ ‘สี’ สื่อสาร แลกเปลี่ยนประสบการณ์

เกมกระดานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะเริ่มมีออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่ของดีไซน์ที่มีแรงดึงดูดต่อนักเล่นเกมและผู้พบเห็น และวิธีการเล่นที่อาศัย “ความเคยชิน” ที่อยู่ลึกในจิตใจของเราแต่ละคน หรือพูดง่ายๆ อีกอย่างได้ว่า เป็น “เกมทายใจ” ที่พัฒนาขึ้นมาจากการทายใจแบบเดิมๆ

Hues & Cues
Hues & Cues ออกแบบโดยมีพื้นฐานมาจากสีสันต่างๆ ถึง 420 สี สามารถไล่ระดับได้ช่วงสีที่กว้างและครอบคลุมสีต่างๆ ที่เรารู้จักและใกล้ชิดมากที่สุดในชีวิตประจำวัน (gamut) ซึ่งเกิดจากการผสมสีพื้นเดิม (hue) ด้วยสีขาว เทา และ ดำ ทำให้ความเข้มและความสว่างของแต่ละสีมีความแตกต่างกันออกไป เกิดเป็นเฉดสี โทนสี และทินท์ของสี (อ่านเพิ่มเติมเรื่องเฉด โทน ทินท์ ได้ที่ https://papermore.co/2019/07/28/shades-tones-tints-%e0%b9%80%e0%b8%89%e0%b8%94-%e0%b9%82%e0%b8%97%e0%b8%99-%e0%b9%81%e0%b8%a5%e0%b8%b0-%e0%b8%97%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b9%8c/) ซึ่งการผสมค่าสีต่างๆ นี้ ก็เหมือนกับการปรับค่าความสว่าง (brightness) และค่าความอิ่มตัวของสี (saturation) (สามารถอ่านเพิ่มเติมเรื่อง brightness, hue, saturation ได้ที่ https://papermore.co/2019/07/29/basic-terminology-of-colour/)

เกม Hues & Cues จะให้ผู้เล่นแบ่งเป็นฝ่ายใบ้และฝ่ายทาย โดยที่ฝ่ายทายจะต้องคาดเดาคำตอบให้ใกล้เคียงกับสีที่กำหนดมากที่สุด แต่การจะหยั่งลึกเข้าไปในจิตใจของคนแต่ละคนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย การคาดเดาให้ใกล้เคียงที่สุดจากตัวเลือกสีนับร้อย คือสิ่งที่เราต้องอาศัยประสบการณ์ เพราะถ้าหากพูดถึงสีๆ หนึ่ง เราจะมีภาพจำต่อสีนั้นๆ แตกต่างกันไปตามความเข้าใจของแต่ละคน

เกมนี้ จะเล่นได้ตั้งแต่ 3-10 คน ซึ่งเมื่อได้รับคำใบ้ไปแล้ว ผู้ทายจะต้องเลือกสีจาก 480 เฉดสีที่เห็นเพื่อหาผู้ที่ตอบได้ใกล้เคียงกับคำใบ้มากที่สุด เพื่อรับคะแนนไปในรอบนั้นๆ ตัวอย่างคำใบ้ เช่น “กาแฟ” ที่มีสีค่อนไปทางสีน้ำตาล แต่เป็นน้ำตาลแบบไหน? เข้มหรือว่าอ่อน? สีของกาแฟที่ชงดื่มเองที่บ้าน สีของกาแฟจากร้านอาหาร หรือแม้แต่การคาดเดาจากความรู้สึกว่าน่าจะเป็นสีนี้จากผู้ที่ไม่เคยดื่มกาแฟเลยก็ตาม แต่ถ้าบอกใบ้เพิ่มเติมในรอบที่ 2 ว่าเป็นลาเต้ ทุกคนก็จะเล็งสีน้ำตาลที่อ่อนลง มีค่าความสว่างมากขึ้น แต่จะมีการเลือกคำตอบ

Hues & Cues จึงกลายมาเป็นเกมที่ทำให้เราร่วมแชร์ ถกเถียง พูดคุยกันถึงประเด็นต่างๆ ว่าด้วยเรื่องของสี จากประสบการณ์ที่แต่ละคนได้รับมาในชีวิต และเป็นเกมที่ทายใจเจ้าของโจทย์ที่กำหนดคำใบ้จากสีที่โจทย์กำหนดมาได้อย่างสนุกและไม่น่าเบื่อบนกระดานเกมหลากสีสัน

Pantone
เป็นอีกหนึ่งเกมกระดานที่ผลิตขึ้นโดยบริษัทผู้ผลิตสีในชื่อเดียวกัน ชื่อเสียงของ Pantone เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกในเรื่องของความแม่นยำของสี ที่ทางบริษัทตั้งใจผลิตให้ดีไซเนอร์ใช้ภาษาของสีในการสื่อสารกัน โดยการตั้งรหัสสีขึ้นมากำหนด รวมถึงการผสมสีพิเศษขึ้นมาให้สำหรับพร้อมใช้งาน ที่มีความแม่นยำสูง และไม่จำเป็นต้องทำการผสมสีเอง เหมาะสำหรับงานที่ต้องการความแม่นยำของสีที่สูงมาก (อ่านบทความเกี่ยวกับสีพิเศษของ Pantone ได้ที่ https://papermore.co/2019/07/26/pantone-%e0%b8%aa%e0%b8%b5%e0%b8%9e%e0%b8%b4%e0%b9%80%e0%b8%a8%e0%b8%a9%e0%b9%83%e0%b8%99%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%9e%e0%b8%b4%e0%b8%a1%e0%b8%9e%e0%b9%8c/)

เกมที่ Pantone สร้าง จะตรงข้ามกับ Hues & Cues กล่าวคือ ถ้า Hues & Cues ใช้เพื่อหาสีที่ถูกต้องบน swatch สีนับร้อย จากคำใบ้ที่กำหนด Pantones จะการ์ดสีต่างๆ ที่ผู้ใบ้คำ ผสมขึ้นมาให้เป็นรูปเป็นร่างแล้วให้ฝ่ายผู้ทาย ทายว่าเป็นรูปอะไร ตั้งแต่วิลลี่ วองก้า, สโนว์ไวท์ ไปจนถึงเซเลอร์มูน ที่มีมาให้สร้างสรรค์คำใบ้ถึง 132 ตัวละคร และการ์ดสี (swatch cards) ให้สร้างเป็นตัวละครกว่า 15 สี หากยังไม่มีใครทายถูก จะเพิ่มคำใบ้ไปเรื่อยๆ แต่คะแนนที่ได้จะลดลง เล่นเป็นศิลปินสร้างสรรค์ภาพครบคนละ 3 รอบก็จะเป็นอันสิ้นสุดเกม

 

สิ่งที่เกมของ Pantone ให้มานี้ ต้องใช้จินตนาการที่สูงกว่า เพราะการสร้างรูปตัวละครขึ้นมา จะไม่มีรูปร่างหรือรูปทรงใดๆ ให้ใช้ในการใบ้ มีเพียงการ์ดสีที่เป็นจุดเด่นของคาแรกเตอร์ต่างๆ หากใบ้ได้ไม่ดี จากซานต้าในชุดสีแดงอาจจะกลายเป็นหนูน้อยหมวกแดงที่เดินทางไปบ้านคุณยายแทนก็เป็นได้

ทั้ง 2 เกม เป็นเกมที่ใช้สีในการสื่อสาร และมีการใช้จินตนาการที่สูง อาศัยทักษะความเป็นศิลปินของผู้ใบ้คำและประสบการณ์ของผู้ทาย เป็นเกมคลายเครียด ที่ทำให้วงสนทนามีชีวิตชีวามากขึ้น สีสันต่างๆ ใช้ต่างภาษา แทนคำพูด แทนเรื่องราว แทนประสบการณ์ที่เราสามารถแชร์ร่วมกันได้ ถกเถียงท่ามกลางสีสันนับร้อยได้อย่างมีอรรถรส ทายใจและนิสัยของผู้คน เพื่อให้เข้าถึงกันได้ง่ายมากขึ้น ละลายพฤติกรรม และคุยกันด้วยภาษาเดียวกัน

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *