(ที่มาของคลิป https://www.youtube.com/watch?v=ExOOElyZ2Hk&feature=emb_title)
แม้ความงามของโลกใต้ท้องทะเลจะจับใจผู้คนได้อย่างเหลือเชื่อ แต่ความงามที่แท้จริงนั้น กลับซ่อนอยู่ภายใต้ฟิลเตอร์สีเขียวน้ำทะเล ภาพถ่ายใต้ผืนน้ำที่เราเห็น อาจไม่ได้แสดงให้เห็นสีสัน หรือหน้าตาที่แท้จริงของสิ่งมีชีวิตที่ธรรมชาติสร้างขึ้น การลบสีของน้ำทะเลออกไป จะทำให้เราได้เห็นเนื้อแท้ของธรรมชาติ ที่ปกติไม่เผยให้เราเห็นด้วยตาเปล่า Sea-Thru….จึงได้ถือกำเนิดขึ้น
Sea-thru เป็นผลงานของนักวิจัยจาก MIT และ University of Haifa ที่เรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติวงการภาพถ่ายใต้น้ำ ซึ่งเป็น algorithm ที่สามารถลบสีฟ้าของน้ำทั้งที่เป็นพื้นหลังและที่ซ้อนปิดบังสีที่แท้จริงของธรรมชาติ ที่เป็นเสมือนฟิลเตอร์ของน้ำทะเลให้ออกไปจนหมด โดยที่ยังคงสีที่แท้จริงของสัตว์ทะเลและเหล่าปะการังทั้งหลายได้ ซึ่งเข้ามาแก้ปัญหาของภาพถ่ายที่มีการดูดซับแสงและกระจายแสงธรรมชาติที่ทำให้ภาพนั้นดูมืดหรือมีสีฟ้าที่เข้มเกินไป นอกจากคุณสมบัตินี้จะช่วยช่างภาพแล้ว ยังสามารถตอบโจทย์นักวิทย์ในการจำแนกสปีชีส์ต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
การกระจายแสงที่เป็นปัญหา เมื่อถูกลบสีฟ้าเข้มออกไป ก็ทำให้เราเห็นภาพของโขดหินปะการังต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งเราจะได้ภาพที่ไม่เป็นสีเขียวฟ้าครึ้มในโทนเดียวกันหมด ทำให้สิ่งมีชีวิตที่มีสีสันโดดเด่นอยู่แล้วภายใต้ท้องทะเล มีจุดเด่นในตัวเองสูง และเป็นส่วนประกอบของภาพที่ดึงความสนใจได้คนละความรู้สึกกับภาพถ่ายท้องทะเลทั่วไป
Derya Akkaynak วิศวกรและนักถ่ายภาพใต้ทะเลและที่ปรึกษาของเธอ Tali Treibitz ได้ใช้เวลากว่า 4 ปีในการพัฒนาโปรแกรมนี้ขึ้นมา เธอจึงใช้เวลาที่ยาวนานมากในการถ่ายภาพเพื่อทดสอบโปรแกรมนี้ กว่า 1,000 ภาพที่เธอถ่าย ที่จะต้องมี Color chart หรือ Color passport ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการเปรียบเทียบสีต่างๆ และอ้างอิงสีที่มักใช้กับงานที่ละเอียดอ่อนอย่างการส่งไฟล์ภาพให้โรงพิมพ์ ที่จะแสดงส่วนผสมของแม่สี 4 สีในการพิมพ์ในรูปของเปอร์เซ็นต์ เธอทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนโปรแกรมสามารถแยกความแตกต่างของแสงสีที่กระจายตัวในน้ำได้
เนื่องจากเทคโนโลยีนี้ค่อนข้างใหม่ ทำให้วงการวิทยาศาสตร์ก็มีการถกเถียงถึงความถูกต้องแม่นยำของสี อย่างการนำภาพไปใช้ผ่านโปรแกรม Photoshop มักจะมีการเติมสีแดงและเหลืองเข้าไปปรับค่าสี ในขณะที่ Sea-Thru สามารถให้ภาพที่แม่นยำได้มากกว่า ซึ่ง Pim Bongaerts นักชีววิทยาปะการัง กล่าวถึงโปรแกรมนี้ว่า ช่วยให้เราได้สีที่แท้จริงของสิ่งมีชีวิต ซึ่งจะช่วยให้งานของเธอง่ายขึ้น
สามารถอ่านบทความเรื่อง Colour checker เพิ่มเติมได้ที่ https://papermore.co/2019/11/26/colorchecker-passport-อุปกรณ์คู่ใจช่างภาพ/