โปสเตอร์โตเกียวโอลิมปิก 2020 ที่แฝงนัยสำคัญแบบญี่ปุ่นไว้ในทุกดีไซน์

โปสเตอร์โตเกียวโอลิมปิก 2020 ที่แฝงนัยสำคัญแบบญี่ปุ่นไว้ในทุกดีไซน์

สิ่งพิมพ์ที่ไม่หนา แต่ใหญ่อย่างโปสเตอร์ ไม่ได้เป็นเพียงใบปลิวที่มีไซส์ใหญ่ขึ้นธรรมดา ความสำคัญของโปสเตอร์ไม่ได้หยุดอยู่แค่เพียงแผ่นติดโฆษณาและประชาสัมพันธ์ตามที่ต่างๆ เท่านั้น แต่ในปัจจุบัน โปสเตอร์ยังกลายเป็นของสะสมที่สามารถม้วนเก็บใส่กล่องทรงกระบอก นำไปใส่กรอบ หรือแค่ติดบนผนังบ้าน เมื่อศิลปินระดับโลกออกคอนเสิร์ตหรือแผ่นเสียง ก็มักจะมีโปสเตอร์ที่ขายคู่กันหรือแจกให้กับเหล่าแฟนเพลงได้สะสม ด้วยขนาดที่เห็นได้ชัดประกอบกับภาพที่สวยงาม ทำให้การมีโปสเตอร์ไว้ในครอบครองกลายเป็นงานศิลป์ชิ้นที่มีมูลค่า ได้เช่นกัน  ซึ่งมูลค่านั้นอาจมาจากชื่อเสียงของศิลปินเอง ความหายากในการสะสม หรือรุ่นที่พิมพ์พิเศษแบบจำกัดจำนวน ภาพถ่ายที่สวยจากช่างภาพ และการใส่ไอเดียของดีไซเนอร์ผู้ออกแบบ
.
สำหรับในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา โปสเตอร์ของโอลิมปิกถูกผลิตโดย Organising Committees of the Olympic Games ในการโปรโมตและโฆษณางานเทศกาลกีฬาและการแข่งขันหลัก และแสดงถึงการมีบทบาทสำคัญของกีฬาโอลิมปิกต่อสายตาคนทั้งโลก แต่ในพักหลังมานี้ โปสเตอร์จะถูกออกแบบโดยศิลปินและดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงที่ทั่วโลกรู้จัก ใส่ความเป็นวัฒนธรรมและความเป็นงานศิลปะลงไปในแผ่นโปสเตอร์ของทั้งการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิก ทำให้โปสเตอร์สื่อความหมายได้มากมายอย่างไม่จำกัด ไม่ได้เป็นเพียงใบติดโฆษณาหรือโลโก้งานกีฬาธรรมดา แต่ยังเป็นงานศิลป์ที่น่าสะสม อาจเรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งยุคเลยก็ว่าได้ ด้วยความที่ 4 ปีจะมีสักหนหนึ่ง โปสเตอร์ที่ถูกระดมไอเดียจากศิลปินระดับชาติเพื่อสร้างขึ้นมา จึงบ่งบอกวัฒนธรรม สังคม และเทคโนโลยีความก้าวหน้าในยุคนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
.
แม้ว่าโอลิมปิกครั้งนี้ที่โตเกียวเป็นเจ้าภาพจะล่วงเลยกำหนดการณ์จากปี 2020 มาเป็นการแข่งขันในปี 2021 ด้วยสถานการณ์โรคระบาด แต่ด้วยความเป็นคนญี่ปุ่นที่ใส่ใจในทุกรายละเอียด ตั้งแต่ตัวศิลปิน การเลือกใช้วัสดุ ไอเดีย ดีไซน์ การสอดแทรกวัฒนธรรมอย่างเพลง มังงะ อนิเมะ และเทคโนโลยี จึงทำให้โปสเตอร์มีความครีเอทีฟโดดเด่นกว่าชาติอื่นๆ Papermore จะพาไปชมโปสเตอร์ ดีไซเนอร์ และที่มาของแต่ละชิ้นงานกัน

1. “Now It’s Your Turn!” – Naoki Urasawa
นักวาดการ์ตูนมังงะกีฬาชื่อดังอย่าง นาโอกิ อุราซาว่า มีผลงานที่มีชื่อเสียงและหลายคนคุ้นเคยกันอย่าง 20th Century Boys และ Monster โดยโปสเตอร์ของเขา ได้แรงบันดาลใจจากมังงะกีฬาของเขาเอง เพราะความเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของการ์ตูนประเภทกีฬาคือมีความลุ้นระทึก มีเรื่องของการฝึกซ้อม การแพ้ การชนะ และความคาดหวัง ที่จับภาพและจังหวะการดำเนินของเรื่องได้อย่างน่าตื่นเต้นและประทับใจ การแข่งกีฬาก็เหมือนกันกับมังงะที่ออกรายสัปดาห์ เพราะมีช่วงที่สร้างความลุ้นระทึกและความสนุกได้เหมือนการนั่งเชียร์กีฬาในทุกครั้งที่การ์ตูนออกวางจำหน่าย และมักจะตัดจบในช่วงที่น่าตื่นเต้นที่สุด โดยทิ้งท้ายไว้ด้วยคำว่า “โปรดติดตามตอนต่อไป!” ซึ่งมังงะหรือการ์ตูนญี่ปุ่นนั้นมีความเป็นเอกลักษณ์ที่สูงมาก และเป็นหน้าเป็นตา เป็นธุรกิจที่มีชื่อเสียงที่สุดที่ทั่วโลกรับรู้ได้โดยทั่วกัน ผลงานชิ้นนี้วาดเพื่อการแข่งขันโอลิมปิกโดยเฉพาะ เป็นความตั้งใจที่อยากจะนำเสนอเรื่องราวของกีฬาเพื่อยกระดับการแข่งกีฬาที่ไม่จำกัดเชื้อชาติและเพศ ทุกคนมีโอกาสของตัวเอง และคราวนี้เป็น “ตาของคุณแล้ว!” (Now It’s Your Turn!)

2. “HARMONIZED CHEQUERED EMBLEM STUDY FOR TOKYO 2020 OLYMPIC GAMES [EVEN EDGED MATTERS COULD FORM HARMONIZED CIRCLE WITH “RULE”]” – Asao Tokolo
อาซาโอะ โทโคโระ เป็นจิตรกรมากความสามารถที่มีฝีมือการออกแบบที่โดดเด่น ภาพโปสเตอร์นี้ของเขามีความโดดเด่นและกลายเป็นภาพสัญลักษณ์ที่คนจดจำกีฬาโอลิมปิกปี 2020 นี้ได้อย่างชัดเจน โดยตราสัญลักษณ์ลายตารางรูปร่างแปลกตานี้ มีลักษณะภาพรวมเป็นรูปวงกลมบนผืนผ้าทอสีน้ำเงินครามแบบญี่ปุ่น ความพิเศษคือเขาสามารถคำนวณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแต่ละรูปในจำนวนเท่าๆ กัน เชื่อมต่อจุดกึ่งกลางของสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ซึ่งลวดลายนี้มีชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า Kumi-ichimatsu-mon ซึ่งผืนผ้าทอนี้มีความทนต่อสภาพอากาศอย่างมาก หมึกพิมพ์สีน้ำเงินครามก็มีความทนทานและเป็นสีที่สวย เข้ม และดูไร้กาลเวลา สามารถคงทนได้นาน
.
ผลงานชิ้นนี้ถูกออกแบบบางส่วนด้วยมือและบางส่วนด้วยคอมพิวเตอร์ ด้วยความตั้งใจให้งานชิ้นนี้เป็นเหมือน “ไม้ผลัด” ในกีฬาวิ่งผลัดที่ส่งต่อจากรุ่นของเขา สู่รุ่นถัดๆ ไป และในตัวงานชิ้นนี้ของปี 2020 เอง ยังเป็นการให้เกียรติโปสเตอร์ในโอลิมปิกโตเกียวปี 1964 ที่คนรุ่นเก่ายังใช้วงเวียนและไม้บรรทัดในการสร้างสรรค์ผลงานโดยจินตนาการถึงสื่อที่ใช้ในการสร้างผลงานของดีไซเนอร์ในแต่ละช่วงสมัย เส้นร่างแต่ละเส้นจึงมาจากการวาดมือและใช้คอมพิวเตอร์ในการไกด์ไลน์เส้นต่างๆ ให้ได้สัดส่วนที่สมบูรณ์แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเก็บลายเส้นบางส่วนไว้ให้เห็นร่องรอย ด้วยความเคารพต่อนักกีฬา อาซาโอะ โทโคโระจึงแสดงความรับผิดชอบและความตั้งใจเพื่อสร้างสัญลักษณ์แห่งโอลิมปิกและพาราลิมปิก 2020 ครั้งนี้อย่างเต็มที่
.
นอกจากนี้ ผลงานชิ้นนี้มีแฟนๆ บางคนโยงไปถึงลายตารางบนชุดเสื้อคลุมของตัวการ์ตูนดังอย่าง “คามาโดะ ทันจิโร่” ในดาบพิฆาตอสูรและมองสัญลักษณ์ตรงกลางของวงกลมเป็นรูปดอกซากุระซึ่งแสดงถึงชัยชนะอันยิ่งใหญ่อีกด้วย

3. Space Kicker – Shinro Ohtake
ชินโระ โอทาเกะ จิตรกรผู้ถนัดงานออกแบบคอลลาจและการจัดวาง ใช้สีสันมากมายที่ทั้งฉูดฉาด ทั้งมีชีวิตชีวา รูปทรงกลม รูปเรขาคณิตต่างๆ บนงานกระดาษตัดแปะและการใช้จินตาการของเขาในการสร้างสรรค์งานชิ้นนี้ เหมือนว่ารูปร่างที่ปรากฏบนภาพกำลังพุ่งทะยานผ่านห้วงอวกาศด้วยความเร็วแสง ด้วยจินตนาการที่ว่าหากโลกใบนี้ไม่มีกีฬาโอลิมปิก ตัวแทนสีชมพูในภาพก็โผล่ขึ้นมาอย่างไม่ทราบแหล่งที่มา เตะลูกบอลสีแดงสุกสว่างซึ่งอาจแทนสัญลักษณ์แห่งดวงอาทิตย์อันเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติญี่ปุ่น ด้วยความสงสัยว่า “นี่คือเทพเจ้าแห่งกีฬาหรือเปล่า?”
.
ย้อนกลับไปในปี 1964 เมื่อครั้งที่มีการจัดโอลิมปิกที่โตเกียว ชินโระ โอทาเกะยังเป็นเพียงนักเรียนชั้นประถมสมัยที่ยังเรียนตัดแปะกระดาษในชั้นเรียน เขาจึงตัดสินใจที่จะสร้างจักรวาลแห่งการตัดแปะในแบบของเขาเอง เขาจึงนำงานตัดที่ยังไม่เสร็จและเศษกระดาษที่พิมพ์ออกมาที่มีหลากสีสันในสตูดิโอ แล้วโยนขึ้นไปในอากาศ แล้วผลงาน “Space Kicker” หรือนักเตะอวกาศก็เกิดขึ้นมาจากชิ้นส่วนสีสันต่างๆ ที่หล่นลงมาซ้อนทับกันได้อย่างเป็นธรรมชาติ

4. “EXTREME REVELATIONS” – Theseus Chan
ธีซีอุส ชาน อาร์ตไดเรคเตอร์ชาวสิงคโปร์ผู้เชี่ยวชาญงานฝีมือและงานภาพพิมพ์ได้รับแรงบันดาลใจในการนำกีฬาชนิดใหม่ที่เพิ่งถูกบรรจุเข้าไปในการแข่งขันโอลิมปิกอย่าง “สเก็ตบอร์ด” ที่มีความคิดเป็นขบถ เพราะความแตกต่างในแบบที่ไม่เหมือนกีฬาชนิดใด แต่ก็ยังมีวัฒนธรรมในแบบของตัวมันเอง
.
ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่าสักวันหนึ่ง การเล่นสเก็ตบอร์ดจะกลายมาเป็นกีฬาโอลิมปิก เพราะมันดูแปลกแยก แตกต่าง และมีวัฒนธรรมที่ดูเป็นขบถ แต่ตัวมันเองก็มีภาษาของมันเอง และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาจนกลายมาเป็นกีฬา มันเป็นการสังเคราะห์ขึ้นของงานศิลปะ ดีไซน์ แฟชั่น ดนตรี และอาจมีแม้กระทั่งท่าทางอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง
.
งานชิ้นนี้ของเขาประกอบด้วย 3 ส่วน อย่างแรกสุดคือความคิดในเชิงต่อต้าน ซึ่งอาจหมายถึงการคิดนอกกรอบ ร่องรอยถากที่เหมือนรอยล้อสเก็ตบนพื้นผิวที่ถลอกกลายเป็นการปาดปลายพู่กัน การทำซ้ำๆ ไปมาจนเกิดเป็นการสร้างงานที่แสวงหาความสมบูรณ์แบบ อย่างที่สองคือชั้นต่างๆ ที่ทับถมกันของคอนกรีต เหล็ก และวัสดุที่เป็นตัวแทนของการแข่งขันกีฬา เป็นการผสมผสานของความไม่มั่นคง ความมืด และการถูกกดขี่ แต่ก็ยังมีสีที่สว่างระเบิดออกมาจากภายในเพื่อเฉลิมฉลองความเยาว์วัยและขับจิตวิญญาณที่ไม่สามารถอดกลั้นไว้อยู่ภายใน อย่างสุดท้ายคือความลึกลับคลุมเครือของตัวเลขที่ผันผวนและรูปทรงกราฟิกต่างๆ ที่เลือนรางจนเกือบมองไม่เห็น เสมือนการตั้งคำถามต่อกฎระเบียบที่เคร่งครัดที่เราสืบปฏิบัติกันเรื่อยมา

5. flow line – Daijiro Ohara
โปสเตอร์โดยกราฟิกดีไซเนอร์ที่ดูซับซ้อน ยุ่งเหยิง ที่สอดประสาน ไขว้กันไปมา แทนโลกของเราทุกวันนี้ที่มีทั้งเส้นนำสายตา เส้นโค้ง เส้นแบ่ง เส้นใยที่ร้อยเรื่องราวบอกเหตุ และอื่นๆ ที่บางครั้งก็ไปพันกันยุ่งเหยิงในบางจุดและบางจุดก็อยู่กันอย่างหลวมๆ ในจำนวนที่นับไม่ถ้วน เกิดเป็นภาพที่เหมือนอวกาศหรือเป็นภาพความคิดภายในร่างกายและจิตใจของคนเรา เส้นต่างๆ เหล่านี้ ยังแทนเส้นแห่งความคาดหวังและการเคลื่อนไหวไปมาของเปลวไฟในคบเพลิงโอลิมปิกจากโอลิมปิกครั้งแรกที่กรีซเรื่อยมาจนถึงโตเกียวในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงอีกกว่า 800
เขตเทศบาลต่างๆ ในญี่ปุ่นที่ได้รับการส่งต่อคบเพลิง จะมีอะไรที่เชื่อมโยงการแข่งขันกีฬาระดับโลกไปได้ดีกว่านี้อีก? ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหยิบเอาสิ่งที่เชื่อมต่อเกมการแข่งขันในสเกลที่ใหญ่ เพื่อแยกออกมาแต่ละเส้น เพราะต่างก็มีความไม่แน่นอนหรือเลือนรางดุจภาพลวงตา แม้แต่ในโลกที่มีความหลากหลายและเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ไดจิโร โอฮาระเองคาดหวังที่จะคงไว้ซึ่งความหวังกับความเป็นจริงที่โลกของเรานั้นมีองานศิลปะที่สัมผัสเข้าถึงจิตใจของผู้คนและมีสถานที่ที่ให้ร่างกายของเราอาบไปด้วยความตื่นเต้นใจได้

6. Ludus – Viviane Sassen
ด้วยความที่ วิเวียน ซาสเซน เป็นช่างภาพหญิงชาวดัชต์ที่มีความถนัดทั้งการถ่ายภาพและงานศิลป์ เธอจึงต้องการใช้ภาพถ่ายของเธอสื่อถึงความสนุกสนาน สีสัน และเปี่ยมด้วยความหมาย ความตั้งใจที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นความสุขของการเล่นกีฬาในภาพถ่ายและยังอีกมีองค์ประกอบที่สำคัญคือการแฝงนัยของความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติที่มาร่วมแรงร่วมใจกันแข่งขันในโอลิมปิก จุดสีขนาดใหญ่คล้ายหยดหมึกที่มีสีสันแทนห่วงต่างๆ ที่เป็นโลโก้หลักอย่างเป็นทางการของโอลิมปิก เธอออกแบบใหม่ให้มีความเป็นนามธรรมและเป็นการแยกส่วนของโลโก้ดีไซน์ที่คนจดจำได้มาทำให้เกิดภาพบนโปสเตอร์ชิ้นนี้

7. The Games of People Play – Chris Ofili
จิตรกรชาวอังกฤษ คริส โอฟิลิ ผู้ประสบความสำเร็จตั้งแต่ในวัย 30 ปี ด้วยการได้รับรางวัล Turner Prize ที่ได้รับการจดจำในฐานะจิตรกรผิวสีคนแรกในผลงานด้านวิชวลอาร์ต งานของเขาจึงมีความโดดเด่นมาก อย่างเช่นในงานโปสเตอร์ชิ้นนี้ ได้แบบมาจาก ดิค ฟอสบิวรี่ หรือที่รู้จักจากท่ากระโดดอันเลื่องชื่ออย่าง ฟอสบิวรี่ ฟล็อป เป็นนักกีฬากระโดดสูงชาวอเมริกันที่มีท่วงท่าการกระโดดที่นำมาซึ่งชัยชนะ จนท่ากระโดดของเขากลายเป็นท่ามาตรฐานในการแข่งขัน
.
ภาพของนักกระโดดสูงบนโปสเตอร์นี้อยู่ในท่าที่เป็นจุดพีคของการกระโดดที่มีช่วงลำตัวโค้งเหมือนซุ้มประตูเหนือรูปทรงกลมสีแดงอันเป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์ และยังมีเงาของผู้หญิงอีกคนหนึ่งซ้อนทับกับท่ากระโดดฟอสบิวรี่ ฟล็อปนี้ด้วย ส่วนแถบแนวตั้งทางด้านขวาของภาพมีรายชื่อ 33 ประเภทกีฬาที่ใช้แข่งขันในกีฬาโอลิมปิก และยังเห็นได้จากอีกฝั่งที่เป็นน้ำตกหลากสีบนแขนที่เหยียดออกของภาพนักกระโดดอีกด้วย

8. TOKYO CHILDREN – Takashi Homma
ช่างภาพมากประสบการณ์ ผู้มีผลงานมากมายอย่าง ทาคาชิ ฮมมะ แม้จะดูเป็นเพียงโปสเตอร์ภาพถ่ายเด็กธรรมดาคนหนึ่ง แต่สื่อความหมายได้อย่างมากมายอย่างเหลือเชื่อ คุณทาคาชิ ฮมมะ เชื่อว่าการแข่งขันโอลิมปิก ไม่ได้จำกัดอยู่ที่นักกีฬาที่ได้รับการคัดเลือกมาเท่านั้น แต่อาจจะเป็นความคิด ความเชื่อ ความหวังในจิตใจของใครคนใดคนหนึ่งในบรรดาผู้คนที่เฝ้ารอและติดตามกีฬาโอลิมปิก ซึ่งจะเป็นแสงไฟที่ติดอยู่ในความทรงจำให้กับผู้ใหญ่ รวมถึงเด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคต และสักวันหนึ่ง อาจจะเป็นนักกีฬาผู้เข้าแข่งโอลิมปิกคนหนึ่งในโอลิมปิกครั้งถัดไปก็เป็นได้

9. Wild Things – Hachilympic – Tomoko Konoike
จิตกรนักวาดภาพแนวเหนือจริง (Surrealism) ร่วมสมัย คุณโทโมโกะ โคโนอิเกะ สื่อภาพนี้ออกมาจากการรับรู้ที่แตกต่างกันไปในมนุษย์แต่ละคนไม่ต่างอะไรกับสัตว์ป่า เพราะเราแต่ละคนจะมองโลกผ่านสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ในแบบของตัวเอง ซึ่งไม่มีใครที่มองและเข้าใจได้เหมือนกันเลยแต่ละคน ไม่มีความเหมือนกันทั้งในคำพูดและแสงสว่างในตัวของแต่ละคน ถ้าโอลิมปิกจัดเตรียมความพร้อมสำหรับมุมมองต่างๆ เหล่านั้นได้อย่างตรงไปตรงมา ในช่วงเวลาหนึ่ง อาจจะเกิดขึ้นมาเป็นระบบนิเวศใหม่ๆ ที่เต็มไปด้วยประสาทการรับรู้ของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่จะค่อยๆ เริ่มทำงานไปตามกลไกของมัน

10. Olympic Stadium – Philippe Weisbecker
ฟิลิปเป้ ไวส์เบคเกอร์ จิตรกรชาวฝรั่งเศสได้รับการเชื้อเชิญจากคณะกรรมการโอลิมปิกในการออกแบบโปสเตอร์ในปี 2020 นี้ ปฏิกิริยาตอบสนองแรกของเขาคือ “ทำไมเป็นผม? ผมวาดแต่ภาพนิ่ง วัตถุที่อยู่นิ่งๆ เท่านั้น” เขารู้สึกถึงความหมดสิ้นซึ่งแรงบันดาลใจทั้งหมดในทันที แต่เขาเองก็ไม่สามารถปฏิเสธข้อเสนออันทรงเกียรติ ในการร่วมงานที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกครั้งนี้ ตัวแทนของเขาคือคุณ นัตสุโกะ คิดะ และตัวเขาเอง ได้ร่วมกันค้นหาในอินเทอร์เน็ตเพื่อหาส่วนประกอบหลักที่สำคัญที่เป็นตัวแทนของโอลิมปิก จนเมื่อได้เห็นสเตเดียมของโอลิมปิกที่ถูกสร้างขึ้นใหม่นี้ ก็พบว่าคุ้มค่าที่จะลองนำมาใช้ หลังจากการสเก็ตช์ภาพอยู่หลายครั้ง เขาก็ได้เจอสิ่งที่เขาพึงพอใจ แต่หลังจากนั้นหลายสัปดาห์ เมื่อได้เห็นปรู๊ฟจากเครื่องพิมพ์ เขาได้พิจารณาภาพของเขาซ้ำอีกครั้ง และพบว่าไม่ชอบมันเอาเสียเลย มันดูขาดความชัดเจนและองค์ประกอบหลักซึ่งเป็นเอกลักษณ์ในงานของเขา

.
แม้ว่าเวลาจะหมดลงแล้ว แต่ก็ต้องขอบคุณคณะกรรมการที่ให้เวลาเขาในการเริ่มออกแบบใหม่อีกครั้งทั้งหมด เขาลองวาดบนกระดาษฟางที่บางซึ่งดูสอดคล้องกับประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นสถานที่จัดโอลิมปิกในครั้งนี้ การวาดด้วยมือของเขา นำมาซึ่งรูปลักษณ์ของสนามกีฬาโอลิมปิกที่เขาถูกใจซึ่งเป็นมุมมองในแบบที่เขาต้องการ

11. OLYMPIC CLOUD – Taku Satoh
งานชิ้นนี้ มีความเป็นญี่ปุ่นตั้งแต่แรกเห็น เพราะสร้างสรรค์โดยกราฟิกดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น ทาคุ ซาโต้ ซึ่งเคยมีงานออกแบบชื่อดังอย่างการเป็นอาร์ตไดเรกชั่นชองแบรนด์แฟชั่นอย่าง ISSEY MIYAKE ในปี 2018 ในชื่อผลงาน “PLEATS PLEASE” ซึ่งเป็นแฟชั่นที่เป็นผ้าพลีตเอกลักษณ์ของแบรนด์นี้
.
งานภาพบนโปสเตอร์ที่มองเห็นเป็นท้องฟ้าสีน้ำเงินสดใส วงกลม 5 ห่วง 5 สี โลโก้ทางการของโอลิมปิกที่ลอยอยู่บนฟ้าอย่างกระจัดกระจายนั้น จะเห็นเส้นแนววิถีเป็นแพทเทิร์นต่างๆ ซึ่งถ่ายทอดและนำเสนองานกีฬาที่เป็นตัวแทนของอนาคตที่นักกีฬาแต่ละคน จากแต่ละมุมโลก แข่งขันกันด้วยทักษะความสามารถที่เป็นเอกลักษณ์ของตนที่เป็นที่สุดของความสามารถแต่ละคน มารวมกันเป็นภาพที่ใหญ่ขึ้น กลายเป็นความสมัครสมานสามัคคีของกีฬาโอลิมปิก แม้ภาพๆ นี้ จะเป็นภาพนิ่งที่มากกว่าที่จะสื่อถึงการเคลื่อนไหว แต่ภาพนี้กลับช่วยปลุกประสาทสัมผัสการรับรู้ของผู้ที่พบเห็นได้ตามจินตนาการของแต่ละคน นอกจากนี้ ยังสื่อถึงโลกที่ถูกขับเคลื่อนท้ังในเชิงนามธรรมและข้อมูลข่าวสารเชิงเทคโนโลยี ภาพวาดทั้งหมดบนโปสเตอร์นี้ถูกวาดด้วยมือ ด้วยเหตุผลที่ว่า กีฬาโอลิมปิกคือการดึงเอาพลังความสามารถของแต่ละคนเพื่อทลายขีดจำกัดที่ตัวเองทำได้ ทั้งทางกายภาพและศักยภาพทางอารมณ์

12. FLY HIGH! – Shoko Kanazawa
โปสเตอร์ที่โดดเด่นด้วยหมึกอักษรตัวหนาบนพื้นหลังสีทอง เป็นของศิลปินลายมือสุดบรรจงอย่าง โชโกะ คานาซาว่า ที่บรรจงคัดตัวอักษรคันจิด้วยความหวังต่อความมุ่งมั่นและความกระตือรือร้นของนักกีฬา และผู้ชมที่ติดตาม สนับสนุน ให้กำลังใจในเกมกีฬาโอลิมปิก ที่พุ่งทะยานสูงขึ้นไปบนฟ้าเหนือกรุงโตเกียวเพื่อเข้าถึงผู้คนจากทั่วโลก ตัวอักษรบนพื้นหลังสีทองส่องสว่าง แทนพลังงานอันเปี่ยมล้นของนักกีฬา สีฟอยล์ทองนั้น ยังสื่อถึงงานช่างฝีมือและความละเอียดอ่อนในการผลิตสิ่งต่างๆ ในแบบคนญี่ปุ่น งานเขียนอักษรด้วยพู่กันและแปรง เป็นสื่อกลางเพื่อใช้ติดต่อสื่อสารกับผู้คนได้อย่างลึกซึ้ง ทั้งเปี่ยมไปด้วยความละเอียดอ่อนและพลังงานที่ถูกปลดปล่อยออกมาได้อย่างคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์แบบญี่ปุ่น

ที่มา

https://olympics.com/tokyo-2020/en/games/games-artposter/https://www.theguardian.com/sport/gallery/2020/jan/07/tokyo-2020-olympics-art-posters-revealed-in-pictures

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *