Printing Methods | รูปแบบการพิมพ์ต่างๆ

Printing Methods | รูปแบบการพิมพ์ต่างๆ

Printing Methods | รูปแบบการพิมพ์ต่างๆ มีด้วยกันหลายประเภท ซึ่งมีผลกับวิธีพิมพ์ ต้นทุน และประเภทของงานที่เหมาะสมที่ดีไซเนอร์สามารถเลือกใช้งานได้หลากหลาย

Printing Process

การพิมพ์เป็นกระบวนการที่ใช้หมึกหรือสารเคลือบจากแท่นพิมพ์ลงสู่กระดาษพิมพ์โดยการกดทับ ซึ่งองค์ประกอบส่วนมากมักจะต้องมีแม่พิมพ์ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละวิธี เช่น แผ่นแม่พิมพ์อะลูมิเนียม หรือบล็อกสกรีน ในขณะที่เทคโนโลยีการพิมพ์สมัยใหม่อย่างอิงค์เจ็ต จะใช้การพิมพ์ที่พ่นน้ำหมึกลงบนเนื้อกระดาษ

Printing methods

กระบวนการพิมพ์มี 5 วิธีหลักที่ใช้พิมพ์ในระดับอุตสาหกรรม ได้แก่ Offset lithography, Gravure, Letterpress, Silk screen และ Digital printing ซึ่งแตกต่างทั้งราคา คุณภาพในการผลิต อัตราการผลิต และปริมาณ การเลือกใช้งานระบบพิมพ์ที่เหมาะสม จะดีต่อคุณภาพงานของเรา เพราะแต่ละระบบจะมีลักษณะเฉพาะตัวที่รองรับงานดีไซน์ที่ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป

Lithography

การพิมพ์แบบ lithography คือกระบวนการพิมพ์ที่แม่พิมพ์ภาพที่ย้อมสีถ่ายทอดลงบนผ้ายางแล้วจึงกดทับบนแผ่นกระดาษที่ใช้พิมพ์ lithography ใช้แม่พิมพ์ที่เรียบและหลักการที่น้ำและน้ำมันไม่จับตัวกัน เมื่อเพลตแม่พิมพ์เคลื่อนผ่านลูกกลิ้งน้ำหมึก บริเวณที่ไม่มีภาพที่มีฟิล์มของน้ำ จะล้างหมึกที่เกิดจากหมึกพิมพ์น้ำมันออกไป

Lithography ใช้ผลิตภาพและตัวอักษรลงบนกระดาษได้หลากหลายประเภท เพลตที่ใช้ ใช้เวลาเตรียมไม่นานและสามารถพิมพ์ ด้วยความเร็วสูงได้ ทำให้เป็นวิธีการพิมพ์ที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนัก

Offset lithography

ใช้หลักการเดียวกับ lithography คือน้ำมันจะเป็นส่วนที่ติดสี ส่วนที่ไม่มีสี หรือไม่ได้พิมพ์ออกมานั้นจะเป็นส่วนของน้ำที่จะถูกล้างออกไป จากนั้นหมึกพิมพ์จะถ่ายทอดลงบนผ้ายางและกระดาษพิมพ์ ซึ่งมีทั้งแบบป้อนแผ่นจะใช้กับการผลิตสิ่งพิมพ์ปริมาณไม่มาก เช่น แผ่นพับ, ใบปลิว ในขณะที่แบบป้อนม้วนจะใช้พิมพ์งานที่ผลิตจำนวนคราวละมากๆ เช่น หนังสือพิมพ์ เครื่องพิมพ์ชนิดนี้จะมีด้วยกันหลายขนาด ทั้ง 1 สี 2 สี 4 สี 5 สี หรือมากกว่า

Web Printing

การพิมพ์ออฟเซ็ตแบบป้อนม้วน (Web Printing) จะใช้กระดาษที่ป้อนเป็นลักษณะม้วนขนาดใหญ่ ซึ่งพิมพ์ได้ด้วยความเร็วและได้งานปริมาณมาก โดยปกติสามารถใช้กับเทคนิค lithography ได้ แต่มักนิยมใช้กับ rotogravure และ flexography ซึ่งมีแม่พิมพ์ที่แข็งแรงทนทานมากกว่า

การใช้งานแบบป้อนม้วน จะต้องคำนึงถึงปริมาณและต้นทุน เพราะการพิมพ์แบบนี้จะไม่เหมาะกับยอดพิมพ์ที่มีจำนวนน้อยๆ

          Common problems with web and litho printing

ปัญหาที่เกิดกับการพิมพ์แบบ offset lithography จะต้องคำนึงถึงยอดการสั่งพิมพ์และต้นทุน เพราะด้วยวิธีนี้จะเหมาะกับการพิมพ์ยอดระดับกลางๆ ไปจนถึงสูงมาก โดยปกติจะมากกว่าหนึ่งพันชิ้นขึ้นไป ดังนั้นการพิมพ์ดังกล่าวอาจทำให้คุณภาพของรูปภาพในการพิมพ์ลดลง ซึ่งยอดพิมพ์จำนวนที่มากกว่านี้ อาจเหมาะกับวิธีอย่าง rotogravure มากกว่า

การควบคุมการผลิตสีนั้นเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ใช้ในการคุมสมดุลระหว่างน้ำและหมึกพิมพ์บนแม่พิมพ์ เพราะน้ำอาจทำให้เกิดการดูดซับสีมากขึ้นและทำให้ภาพเกิดการเสียหาย หมึกพิมพ์ที่เข้มข้นเกินก็ไปยากที่จะจัดการเช่นกัน

Hickey or bullseye

จุดต่างๆ หรือข้อผิดพลาดที่เกิดบนภาพที่พิมพ์อาจเกิดขึ้นจากหมึกที่น้อยและทำให้แห้งเกินไป สิ่งสกปรก รวมถึงฝุ่นต่างๆ

Mis-registration

การจัดวางของแม่พิมพ์ที่ไม่ตรงกัน หรืออาจเกิดขึ้นจากน้ำที่อยู่ในระบบพิมพ์ อาจทำให้ภาพบนเนื้อกระดาษเลือนได้

Setoff

ปัญหาที่เกิดจากหมึกจากหน้าพิมพ์หนึ่ง พิมพ์ทับไปบนอีกหน้าพิมพ์หนึ่ง หรือการซ้อนกันของแม่พิมพ์ที่ผิดทำให้ภาพของ 2 หน้ามาซ้อนทับกันได้

Colour variation

ความผิดพลาดในการควบคุมสมดุลระหว่างหมึกพิมพ์และน้ำ อาจทำให้ภาพพิมพ์มีหมึกไม่เพียงพอและสีที่พิมพ์ไม่คงที่ ทำให้เกิดสีที่เพี้ยนหรือแถบสีที่ไม่ต้องการขึ้นได้

Letterpress

คือกระบวนการพิมพ์ที่ใช้หมึกและพื้นผิวตัวนูน โดยตัวเรียงที่เป็นตัวนูนนั้นจะถูกทำให้ติดสี แล้วกดทับลงบนเนื้อกระดาษ ซึ่งเลตเตอร์เพรสเป็นวิธีการพิมพ์แรกที่ใช้พิมพ์ในเชิงธุรกิจ และเป็นต้นแบบให้กับการพิมพ์อีกหลายวิธี แม้ปัจจุบันจะหาได้ยากแล้ว และการเตรียมแม่พิมพ์นั้นค่อนข้างยาก แต่ก็นับว่าคุ้มค่า เพราะการพิมพ์แบบเลตเตอร์เพรสนั้นมีเสน่ห์ และสร้างความแตกต่าง มีเอกลักษณ์ที่คมและมีขอบหมึกพิมพ์ที่เข้ม ถ้าใช้กับนามบัตร โปสการ์ดหรือการ์ดแต่งงาน

Rotogravure

เป็นวิธีที่ใช้ผลิตในเชิงพาณิชย์โดยปกติ โดยการสลักแม่พิมพ์ที่เป็นทองแดงเป็นร่องลึกเพื่อเก็บหมึก แล้วกดทับโดยตรงลงบนกระดาษพิมพ์ ซึ่งการสลักนั้นจะใช้เลเซอร์หรืออุปกรณ์ที่ทำจากเพชรก็ได้ สามารถสลักสิ่งที่เล็กมากๆ ได้ ลูกกลิ้งที่ใช้จะเป็นทรงกระบอกที่นำมากัดผิว ดังนั้นการเตรียมพิมพ์จะใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายในระดับหนึ่ง แต่คงทน และมีคุณภาพงานที่ดี การผลิตจะพิมพ์โดยแยกสีและมีความเร็วสูงทำให้ได้งานปริมาณมาก

Flexography

เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ใช้พื้นผิวนูนที่มีความยืดหยุ่นในการกดทับเพื่อสร้างภาพพิมพ์ โดยกัดเอาส่วนที่ไม่รับหมึกเว้าลงไป และมีลูกกลิ้งที่ทำขึ้นเป็นพิเศษที่คอยจ่ายหมึกในปริมาณที่สม่ำเสมอ สามารถใช้พิมพ์แบบสอดสีได้ โดยภาพจะเกิดจากผ้ายางที่มีภาพพิมพ์อยู่ ซึ่งถูกย้อมสีแล้ว แล้วจึงกดทับลงบนกระดาษ วิธีนี้จะใช้พิมพ์ packaging ซึ่งโดยปกติจะมีคุณภาพการพิมพ์ด้อยกว่าเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ แล้ว แต่ก็สามารถพิมพ์ได้บนหลายวัสดุ เช่น ลูกฟูก, กระดาษแข็ง, กล่อง, ฉลาก, ถุงพลาสติก เนื่องจากมีแม่พิมพ์ที่สามารถยืดหยุ่นได้มากกว่า สามารถพิมพ์งานได้ปริมาณตั้งแต่ขนาดกลางไปจนถึงงานจำนวนมาก

ทั้ง Rotogravure และ Flexography จะใช้หมึกพิมพ์ที่มีความใสของหมึกค่อนข้างมากกว่า lithography เนื่องจากต้องการให้หมึกแห้งเร็ว

Screen-printing

การพิมพ์ด้วย screen-printing จะพิมพ์งานยอดน้อยๆ โดยใช้หมึกที่มีความข้นผ่านลงบนบล็อกซึ่งปกติมักจะเป็นผ้าไหมที่นำมาขึงไว้ ซึ่งพิมพ์ไปบนผิวกระดาษ โดยจะให้หมึกซึมทะลุผ่านผ้าเฉพาะบริเวณที่เป็นภาพ และพิมพ์งานสอดสีได้ จึงอาจเรียกได้ว่า silkscreen printing การพิมพ์วิธีนี้ค่อนข้างช้าและพิมพ์ได้ปริมาณที่น้อย และมีค่าใช้จ่ายสูง แต่สามารถพิมพ์ได้บนวัสดุหลากหลายชนิด พิมพ์ได้ทั้งเสื้อผ้า พลาสติก เซรามิก ไม้ โลหะ ซึ่งไม่ทำให้สีจางลง ด้วยหมึกที่เข้มจะทำให้เราใช้สีที่จำเพาะได้ สามารถสร้างงานที่พื้นผิวนูนได้

Digital printing

เป็นการพิมพ์ที่ใช้เครื่องพิมพ์ร่วมกับคอมพิวเตอร์ สั่งพิมพ์จากคอมพิวเตอร์ได้ การพิมพ์แบบดิจิทัลมักจะใช้กับเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ตและเครื่องพิมพ์เลเซอร์ โดยอาศัยหมึกและประจุไฟฟ้าทำให้เกิดภาพ เครื่องพิมพ์ชนิดนี้อาจมีได้หลายขนาด เช่น ขนาด A4 หรือ A3 ซึ่งปกติมักจะใช้เครื่องพิมพ์ A3 ในการพิมพ์ปรู๊ฟ ซึ่งเครื่องจะพิมพ์ได้เร็วและได้ภาพที่สมจริง แต่ไม่ได้ใช้หมึกชนิดเดียวกันกับในระบบออฟเซ็ต วิธีพิมพ์นี้เหมาะกับงานที่ยอดจำนวนไม่มาก หรือใช้กับงานที่เปลี่ยนแปลงภาพหรือข้อความบ่อยอย่างนามบัตรหรือการ์ดเชิญต่างๆ

อ่านเรื่องการพิมพ์ออฟเซ็ตเพิ่มเติมได้ที่ https://papermore.co/2019/04/24/%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%9e%e0%b8%b4%e0%b8%a1%e0%b8%9e%e0%b9%8c%e0%b8%ad%e0%b8%ad%e0%b8%9f%e0%b9%80%e0%b8%8b%e0%b8%95-offset-printing/

อ่านเรื่องการพิมพ์ดิจิทัลหรือออนดีมานด์เพิ่มเติมได้ที่ https://papermore.co/2019/04/23/%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%9e%e0%b8%b4%e0%b8%a1%e0%b8%9e%e0%b9%8c%e0%b8%94%e0%b8%b4%e0%b8%88%e0%b8%b4%e0%b8%97%e0%b8%b1%e0%b8%a5%e0%b8%ad%e0%b8%ad%e0%b8%9f%e0%b9%80%e0%b8%8b%e0%b8%95-digital-o/

อ่านเรื่องการพิมพ์เลตเตอร์เพรสได้ที่ https://papermore.co/2019/04/25/%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%9e%e0%b8%b4%e0%b8%a1%e0%b8%9e%e0%b9%8c%e0%b9%80%e0%b8%a5%e0%b8%95%e0%b9%80%e0%b8%95%e0%b8%ad%e0%b8%a3%e0%b9%8c%e0%b9%80%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%aa-letterpress-printi/

และติดตามเราได้ทาง https://www.facebook.com/Papermorethailand/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *